เรื่องโดย ฉัตรแก้ว แก่นทับทิม
นักศึกษาฝึกงานแผนก HR, Gen Z ใน Dow
ปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มมีคนรุ่นใหม่เจเนเรชั่น Z สมัครงานเป็นจำนวนมาก สภาองค์กรนายจ้างคาดการณ์ว่าในปี 2021 นี้ คนรุ่น Gen Z จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานกว่า 9 แสนคน โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล แล้วคน Gen Z คือใคร มีลักษณะเฉพาะอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับคนเจเนอเรชั่นนี้กันดีกว่า
เจเนอเรชัน Z (Generation Z – Gen Z) คือ หนุ่มสาวที่เกิดในช่วงระหว่างปี 1997-2012 ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ (Digital Native) ทำให้คนในช่วงวัยนี้มีความสามารถในการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและเรื่องราวใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว เปิดกว้างทางความคิด คิดเร็ว ทำเร็ว มีความมั่นใจในตัวเอง มีความเร็วในการใช้ชีวิตมากกว่าคนรุ่นก่อน นำไปสู่พฤติกรรมการทำงานที่สามารถผสานตัวเองเข้ากับเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานแบบ Multitasking ได้เป็นอย่างดี
คน Gen Z มักจะได้คำถามจากผู้ใหญ่เสมอว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ คำตอบประเภท อยากเป็น หมอ พยาบาล ตำรวจ ทหาร ครู ใช้ไม่ได้แล้วเด็กยุคนี้ เพราะ ‘เจ้าของกิจการ’ หรือ ‘Entrepreneur’ กลายเป็นหนึ่งในคำตอบของเราแทน เราอยากเป็นนายตัวเองมากกว่าต้องทำงานให้ใคร เราอยากได้เงินเดือนที่ดีและมีเวลาในการทำงานที่อิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์เราได้ เพราะฉะนั้นงานแรกๆ ที่ ชาว Gen Z อย่างเราจะตัดออกไปทันทีโดยอัตโนมัติก็คือ สายงานราชการ
การเปลี่ยนแปลงลักษณะและบุคลิกของเด็กเจนเนอเรชั่นนี้ส่งผลกระทบในหลายด้าน เมื่อทุกอย่างไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการรออย่างที่เคยเป็นมาทำให้เรามักคาดหวังถึงความรวดเร็วในการทำงาน เนื้อหาของงานที่เข้าใจง่ายชัดเจนและตรงประเด็น คิดเร็วทำเร็ว ไม่ชอบการรอคอย ก่อนตัดสินใจมักจะหาข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดให้มากที่สุด รวมถึงคาดหวังข้อเสนอแนะที่รวดเร็ว และอาจผิดหวังถ้าคำตอบที่ได้ไม่ชัดเจนพอ
แน่นอนว่าจากที่กล่าวมาทำให้คนเริ่มคาดหวังในลักษณะเฉพาะของคนในเจนเนอเรชั่นนี้ ซึ่งจุดแข็งแรกของคน Gen Z คงหนีไม่พ้นเรื่องของเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันเป็นตัวกำหนดสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ หลายองค์กรพยายามปรับตัวให้เหมาะกับโลกดิจิทัล แต่ว่ายังมีอุปสรรคอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง การที่คนในองค์กรขาดทักษะด้านเทคโนโลยี ทำให้การเปลี่ยนแปลงยังคงเป็นแค่แบบแผนที่กำลังจะดำเนินอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กรได้สักที
การเข้ามาในองค์กรของ Gen Z จึงคล้ายเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ แน่นอนว่าถ้ามีสองบริษัทที่มีโปรไฟล์ดีเหมือนกันแต่บริษัทหนึ่งใช้เทคโนโลยีในการช่วยทำงาน การเข้างานที่ไม่จำเป็นจะต้องอยู่แค่ในออฟฟิศ การเปิดเสรีให้กับความคิดสร้างสรรค์ หรือการที่สามารถแสดงความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา แน่นอนว่าบริษัทนั้นย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับ Gen Z อย่างแน่นอน
เมื่อวันหนึ่งที่คน Gen Z เริ่มไหลเข้ามาในองค์กรมากขึ้นโปรดอย่าพึ่งตัดสิน หรือหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่แตกต่างไปจากที่พวกพี่ๆ เคยทำมา พี่ๆ ในองค์กรควรเข้าใจในธรรมชาติของพวกเราและเปิดโอกาสให้เราได้แสดงความสามารถในสิ่งที่พวกเราถนัดก่อน ขอให้เราได้มีพื้นที่ในการเสนอไอเดียดีๆให้แก่องค์กร อย่าเพิ่งบอกว่าไอเดียของเรามันบ้าหรือผิดแปลก หากโดนตำหนิบ่อยครั้งเข้าเราก็คงหมดไฟ
อย่าลืมนะคะว่าใครจะรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคและสื่อสารกับผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้ดีไปกว่าพวกเรา Gen Z จริงไหมคะ 🙂