แนะนำหนังสือส่งเสริม EF: “ไม่เหมือนกัน แต่ก็เหมือนกัน”

กระบวนการอ่านนิทานกับลูก ไม่ว่าจะอ่านเล่มใด ล้วนส่งเสริมทักษะสมอง EF แต่หนังสือบางเล่มยังมีเนื้อหาที่โฟกัสไปยังการส่งเสริมทักษะสมอง EF โดยตรงด้วย

“ไม่เหมือนกัน แต่ก็เหมือนกัน”

สุภาวดี หาญเมธี เขียน  ชญานิศ K. และ Parm L. ภาพ  สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

 

ในโลกที่มีความซับซ้อนนั้น การคิดวิเคราะห์-สังเคราะห์คือกระบวนการคิดที่จำเป็นและสำคัญต่อการดำเนินชีวิตทุกด้าน เป็นหนึ่งในทักษะศตวรรษที่ 21 ที่มนุษย์ทุกคนต้องมี  ผู้ใหญ่สามารถช่วยให้ลูกแม้จะอายุน้อยๆ เพียง 4-5 ขวบ เรียนรู้การจัดระบบความคิดอย่างง่ายๆ เป็นรูปธรรมได้

 

นิทานเล่มนี้จะชวนผู้ปกครองพาเด็กๆไปรู้จักวิธีคิดแบบแยกแยะ  ด้วยการแยกแยะสรรพสิ่งรอบตัวว่า สิ่งต่างๆอย่างใบไม้ ก้อนหิน สัตว์ ฯลฯ ที่ดูไม่เหมือนกัน  ไม่ว่าจะเป็น สี รูปทรง ขนาด ลักษณะ ฯลฯ นั้นไม่เหมือนกันตรงไหน อย่างไร  กระบวนการแยกแยะแบบนี้ คือการคิดแบบวิเคราะห์นั่นเอง 

 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะแยกแยะออกมาแล้วว่าไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเด็กๆฝึกมองให้ดี จะเห็นว่าในความไม่เหมือนกันนั้น ก็มีความเหมือนกันซ่อนอยู่  สิ่งที่เหมือนกันคืออะไร  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 

ฝึกมองแบบนี้บ่อยๆ เด็กๆจะมีระบบวิธีคิดวิธีมองสรรพสิ่งที่เป็นระบบขึ้น ไม่ว่าจะมองสิ่งของวัตถุ หรือมองมาที่ตนเองหรือผู้คนรอบข้าง

 

และหากคุณพ่อคุณแม่ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นเข็มทิศนำทาง พาเด็กๆออกไปจากหน้าหนังสือ แล้วไปทำกิจกรรมง่าย ๆเพื่อค้นหาสิ่งที่เหมือนกันหรือไม่เหมือนกัน  ที่มีอยู่รอบบ้าน ในสวน ในชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่ผู้คน ก็จะพบว่า เด็กจะได้เรียนรู้จักสิ่งต่างๆมากมาย ยิ่งรู้ก็ยิ่งเพิ่มข้อมูล ฝึกฝนวิธีคิดแยกแยะวิเคราะห์ให้คล่องแคล่วขึ้น   EF ก็พัฒนาเข้มแข็งขึ้น