เลี้ยงลูกให้เก่งในยุคโควิด-19 ด้วยทักษะสมอง EF

เรื่องโดย อัจฉรา วิเศษศรี ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดระยอง

 

คอลัมน์ Dow Neighbor ฉบับนี้ เราไม่ได้เดินทางไปไหนไกล แต่จะพาทุกคนมาทำความรู้จักโครงการ “ดาว-อีเอฟ พัฒนาเยาวชนสู่ความสำเร็จ เพื่อระยองผาสุก” ซึ่งเป็นโครงการที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับคณะยุทธศาสตร์แผนพัฒนาบ้านฉาง สถาบันรักลูก ผู้นำชุมชน ครู อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และแกนนำจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดระยอง นำทักษะสมองเพื่อความสำเร็จหรืออีเอฟ (Executive Functions: EF) มาเป็นรากฐานในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กและเยาวชนในจังหวัดระยอง ผ่านชุดความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมอง EF ที่ทำให้มนุษย์รู้จักควบคุมอารมณ์ ยับยั้งชั่งใจ รู้จักคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจถูกต้อง ซึ่งส่งผลต่อพื้นฐานนิสัยให้เติบโตแล้วคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น และมีความสุข

 

นับจากปี พ.ศ. 2559 ที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้เริ่มโครงการ “ดาว-อีเอฟ พัฒนาเยาวชนสู่ความสำเร็จ เพื่อระยองผาสุก” ทั้งคุณครูและผู้ปกครองก็ได้ถ่ายทอดการเรียนรู้เรื่อง EF ให้กับเด็กๆ ชาวระยองมาตลอดหลายปี จนเกิดวิกฤติครั้งสำคัญ ก็คือโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้ต้องลดการพบปะกัน นักเรียนต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ ผู้ปกครองต้องปรับตัวมาดูแลลูกหลานที่จะต้องเรียนหนังสือที่บ้าน ทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองเกิดความเครียด ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันการเรียนรู้เรื่อง EF นั้นจะเป็นตัวช่วยในการปรับพฤติกรรมของเด็กและผู้คนรอบข้างได้ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความรัก ความอบอุ่น และความปลอดภัยในครอบครัว เพราะเมื่อเด็กมีสมองส่วนอารมณ์ที่อิ่มแล้ว EF จะทำงานได้ ซึ่งมีทั้งครูและผู้ปกครอง ที่ได้นำไปปรับใช้ และนำมาเล่าสู่กันฟัง

ครูสา – พรวิสาข์ สังข์สุวรรณ จากโรงเรียนเทศบาลบ้านปากคลอง ได้เริ่มเข้าอบรม EF ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนสามารถต่อยอดจัดโครงการอบรมส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์และพัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองเองก็ให้ความร่วมมือทำกิจกรรมง่ายๆ ที่บ้านโดยการฝึกลูกโดยใช้ทักษะสมอง EF ทำให้เด็กเกิดการพัฒนาทักษะพื้นฐาน ทักษะปฏิบัติ และทักษะกำกับตนเองเพิ่มขึ้น ส่วนโรงเรียนก็จัดกิจกรรมในแบบบูรณาการสอดแทรกในหน่วยการเรียนรู้ หรือกิจวัตรประจำวันของเด็ก เช่น การเก็บเครื่องนอน อุปกรณ์ของใช้ส่วนตัว

 

เมื่อเข้าสู่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เด็กไม่สามารถมาโรงเรียนได้ ครูสาจึงใช้แอปพลิเคชัน LINE ส่งคลิปวีดีโอ เทคนิคการจัด Home Based Learning ความรู้ และเทคนิคต่างๆ ให้พ่อแม่ในการทำกิจกรรมกับลูกเมื่ออยู่บ้าน นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้จัดระบบการเรียนรู้ On-demand ในการเรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น ใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน และมีการส่งคลิปสาธิตตัวอย่างสื่อสร้างสรรค์หรืองานประดิษฐ์ให้ผู้ปกครองนำไปสอนเด็ก แล้วให้อัดคลิปส่งมาทาง LINE เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ซึ่งทางโรงเรียนยังได้จัดซื้อชุดหนังสือนิทาน EF และนิทานประเภทอื่น ๆ ให้ผู้ปกครองยืมกลับไปอ่านให้เด็กที่บ้านได้ด้วย  

 

ส่วน ครูจ๊ะโอ๋ – วชิราวรรณ เกาะสมบัติ โรงเรียนเทศบาลวัดโขดทิมทาราม เล่าว่าได้มีโอกาสเข้าอบรมกับ Dow และนำกิจกรรมส่งเสริม EF มาใช้กับเด็กได้จริง ซึ่งช่วยให้บรรยากาศของชั้นเรียนดีขึ้น ตัวครูก็เหนื่อยน้อยลง เพราะเด็กๆ จะรู้แล้วว่ามาถึงต้องทำอะไร ต้องทำอย่างไร โดยที่ครูไม่ต้องไปย้ำมาก จากเดิมที่บางครั้งเด็กเจอปัญหาแต่ไม่สามารถแก้เองได้ บางคนก็อยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ แต่พอนำเอา EF เข้ามาบูรณาการเข้ากับกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เช่น เด็กบางคนอาจจะก้าวร้าว ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ คุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ บางคนถึงขนาดสมาธิสั้นรอคอยไม่เป็น นิ่งไม่ได้ เวลาทำงานก็ทำไปแต่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการวางแผน แต่พอนำเอา EF มาใช้กับตัวเองและเด็กๆ ในห้องเรียน ก็รู้สึกว่ามันช่วยควบคุมอารมณ์ของเราให้มีความสุข เด็กนักเรียนก็มีความสุขและสนุกกับชั้นเรียนมากขึ้น

 

สำหรับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่นักเรียนอยู่บ้านกับผู้ปกครอง ครูจ๊ะโอ๋ก็พยายามใช้ LINE กลุ่มของห้องในการพูดคุย และส่งคลิปวิดีโอเกี่ยวกับความรู้ EF เพื่อสื่อสารกับผู้ปกครอง ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้ปกครองจะได้เรียนรู้การนำ EF ไปใช้กับบุตรหลาน อย่างทุกวันอาทิตย์ครูจะต้องเรียน Zoom กับนักเรียน ก็จะมีผู้ปกครองที่มาร่วมเรียนรู้ในสิ่งที่เราสอนด้วย

 

 

 

ทางด้าน สโรชา เสียงเสนาะ ผู้ปกครองของลูกน้อยชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนเทศบาลบ้านปากคลอง ก็ได้เล่าถึงความรู้สึกที่ได้อยู่กับ EF มาตั้งแต่ครั้งที่ลูกเข้าเรียนในชั้นอนุบาล 1 ที่เริ่มจากการเข้าร่วมอบรมกับทางโรงเรียน ซึ่งในตอนนั้นจำได้เลยว่าน้องจะเป็นเด็กที่อารมณ์ร้อน ไม่รู้จักคำว่ารอ โมโหง่าย อารมณ์ฉุนเฉียว ก็ค่อยเริ่มด้วยการจัดเวลาให้น้อง ให้น้องเล่นกับเพื่อน ฝึกสมาธิ ปั้นดินน้ำมัน โดยเราก็ต้องค่อยๆ ปะเหลาะเขา เช่น บอกว่าทำอันนี้ให้หน่อยนะ เดี๋ยวจะให้โทรศัพท์ ใช้การหลอกล่อให้เขาสนใจบ้าง เปลี่ยนจากการเล่นโทรศัพท์มาให้ทำอย่างอื่นโดยที่เด็กไม่รู้ตัว ซึ่งการปรับตัวของเด็กที่เป็นลูกของเราเองนั้นถือว่าไม่ยากเพราะว่าเราสัมผัสใกล้ชิดกับเขาอยู่ตลอดเวลา 

คุณแม่คิดว่าสิ่งที่ได้รับจาก EF นั้น มีประโยชน์เพราะสามารถเปลี่ยนลูกจากเด็กที่อารมณ์ร้อนให้กลับมาอารมณ์เย็นลง รู้จักคำว่ารอ พอลูกเรามีพัฒนาการในทางที่ดี เราก็ได้มีการแนะนำให้ญาติๆ ด้วย เพราะเรารู้สึกได้ว่า EF ไม่ใช่เพียงช่วยพัฒนาลูกเราเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงตัวเราเองด้วย จากปกติชอบนอนเล่นโทรศัพท์ตอนกลางคืน เราก็คิดว่าถ้าลูกเราจะนอนเราก็ควรนอนพร้อมกัน เราก็เลยแก้ไขที่ตัวเองก่อน อย่างช่วงก่อนนอนลูกดูการ์ตูนเราก็ดูการ์ตูนกับลูกแล้วก็หลับไปพร้อมกัน คือพอถึงเวลาพักผ่อนก็คือพักเลย เก็บโทรศัพท์ชาร์จแบตไว้อีกที่เลย ซึ่งการใช้ EF นั้นโดยส่วนตัวคิดว่าไม่ยาก เพราะถ้าเราฝึกก็ทำให้คนในบ้านฝึกตามเราไปด้วย

 

ส่วนคุณแม่อีกท่าน นุช เบญจพรบัญญัติ ได้เล่าประสบการณ์ของคนเป็นแม่ที่มีลูกในวัยเรียนถึง 3 คน อายุ 12 10 และ 6 ขวบ ทั้งสามคนเรียนอยู่ที่เดียวกันคือโรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพฯ โชคดีมากที่ทางโรงเรียนมีวิธีการสอนการอบรมนักเรียนในระบบเดียวกันกับ EF ทำให้เราและลูกๆ อยู่กับ EF มาหลายปีมากตั้งแต่ยังเล็ก EF จึงกลายเป็นเหมือนเรื่องธรรมชาติ เช่นในตอนอนุบาล เขาจะเน้นในเรื่องของการทำงานบ้าน เช่น พอเด็กถึงห้องเรียน เขาจะรู้เลยว่าต้องทำอะไร จะมีกิจวัตรประจำวันของเขา ใช้หลักการพี่ดูแลน้อง เหมือนอยู่บ้าน ทำให้เขารู้จักวางแผนว่า จะทำอะไรก่อนหลัง

 

ในส่วนของผู้ปกครอง ก็จะมีการถามลูกๆ ว่าทำอะไรทำมาแล้วเป็นอย่างไร หมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการอ่านหนังสือ อ่านนิทาน แสดงความคิดเห็น โดยไม่ปิดกั้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด ที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอด เด็กๆ ก็จะได้ใกล้ชิดกับญาติ ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในบ้านเขาก็จะช่วยดูแลกัน ครูจะมีสมุดจัดตารางประจำวัน ให้มาจดกิจวัตรประจำวันว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง ให้เด็กจำตารางเรียนเอง ว่าเรียนวันไหน ให้เด็กฝึกความรับผิดชอบไปในตัว ตอนนี้ลูกๆ ก็พยายามทำจนเป็นนิสัยของเขาไปเอง มีการพัฒนาทางด้านอารมณ์ตนเอง โดยผู้ปกครองให้คำแนะนำร่วมไปกับการทำกิจกรรมกับลูกๆ