ผู้อ่านยังจำได้หรือเปล่าว่าครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นหาดทรายไทยขาวสะอาดไร้เศษขยะกระจัดกระจายตามแนวริมน้ำคือเมื่อไร ภาพทิวทัศน์ที่สวยงามอันดับต้นๆ ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกจนส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเติบโตเฟื่องฟูกลายเป็นเพียงภาพในอดีต ภาพความสวยงามสะอาดเหล่านั้นหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
ในสภาวะปัจจุบัน…คงไม่มีบริเวณใดในมหาสมุทรที่ปราศจากร่องรอยเศษซากจากพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นที่ห่างไกลใจกลางของมหาสมุทรแปซิฟิคที่มีขยะลอยเป็นแพกว้างขนาดใหญ่กว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งอาณาบริเวณแห่งนี้ก็มีขนาดที่ใหญ่กว่าพื้นที่ของประเทศไทยถึงสามเท่า หรือ ณ ร่องลึกมาเรียนา (Marianas Trench) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ลึกที่สุดในท้องทะเลซึ่งลึกถึง 11 กิโลเมตรนั้น จากการสำรวจก็ยังพบบรรจุภัณฑ์ต่างๆ และแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ความลึกดำมืดที่ไร้แสงอาทิตย์แห่งนี้ก็ยังไม่อาจรอดพ้นการมีเศษไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในร่างกายไปได้เลย
หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ทำให้เรื่องของผลกระทบจากขยะทะเลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศร้าจากเมืองตรังของลูกพะยูนน้อยมาเรียม หรือวาฬนำร่องที่มีถุงพลาสติกนับร้อยอัดแน่นอยู่เต็มทางเดินอาหารที่ชายหาดสงขลา จริงๆ แล้วเรื่องราวเหล่านี้นั้นเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยที่เราได้พบเจอ เพราะจากโครงการวิจัยในน่านน้ำอินโดนีเชียพบว่าสัตว์ทะเลขนาดใหญ่อย่างเช่นกระเบนแมนต้านั้นสามารถกลืนกินเศษขยะพลาสติกได้ถึง 63 ชิ้นต่อชั่วโมงระหว่างการออกหากินแพลงค์ตอน ในขณะที่ฉลามวาฬในทะเลใกล้เกาะชวาสามารถกินเศษขยะเหล่านี้ได้ถึง 137 ชิ้นต่อชั่วโมงระหว่างออกหากิน ซึ่งกว่าครึ่งของขยะเหล่านี้ก็เป็นพวกถุงพลาสติกและห่อขนมที่ไม่ได้รับการจัดเก็บที่ดีและหลุดรอดลงสู่สิ่งแวดล้อมแทบทั้งสิ้น
ถ้าหันมามองน่านน้ำเขตร้อนเช่นทะเลไทยแล้ว ปะการัง เป็นสิ่งมีชีวิตที่เปรียบดั่งก้อนอิฐรากฐานที่สร้างระบบนิเวศทางทะเลเขตร้อนที่สำคัญยิ่ง ซึ่งจากงานวิจัยที่สำรวจแนวปะการังกว่า 159 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ได้ระบุว่าเมื่อปะการังได้สัมผัสกับเศษขยะพลาสติกที่หลุดรอดลงสู่ทะเลแล้วจะมีโอกาสติดเชื้อโรคมากขึ้นจาก 4 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปสูงถึง 89 เปอร์เซ็นต์ หรืองานวิจัยอีกชิ้นที่พบว่าปะการังเลือกกินเศษไมโครพลาสติกแทนที่จะกินอาหารในธรรมชาติที่ลอยอยู่ในน้ำและป่วยตายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างความกังวลต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งภาพระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ซึ่งส่งผลกระทบลูกโซ่อีกระลอกต่อสิ่งมีชีวิตนับชนิดไม่ถ้วนที่ต้องพึ่งพาแนวปะการังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยในการดำรงชีวิต
จากรายงานสำคัญในเรื่องของขยะทะเลที่ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2015 ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ปล่อยพลาสติกลงสู่มหาสมุทรเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ที่ถูกประเมินว่าอาจปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลสูงถึง 0.15 – 0.41 ล้านตันต่อปี ตัวเลขนี้อาจทำให้หลายคนแปลกใจด้วยจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่งของไทยนั้นมีเพียง 26 ล้านคน ดังนั้นถ้าตามปริมาณที่การวิจัยกล่าวถึง ปริมาณการสร้างขยะจึงต้องมีปริมาณมากถึง 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน แต่ถ้ามองลงลึกในข้อมูลของรายงานฉบับนี้มากขึ้นแล้วนั้น ประชากรของประเทศเรานั้นไม่ได้ใช้พลาสติกต่อคนในปริมาณที่มากขนาดนั้น ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ถูกจัดเป็นอันดับต้นๆ เช่น จีน อินโดนีเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ ด้วยอัตราส่วนจำนวนประชากรด้วยแล้วก็ยิ่งจะเพิ่มข้อสงสัยมากยิ่งขึ้นว่าไทยเราอยู่ในอันดับท็อปเท็นได้อย่างไรกัน ทำไมปริมาณการใช้ของเราน้อยแต่ปริมาณขยะเราถึงมีได้มากขนาดนั้น
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ก็จะพบสาเหตุสำคัญหลักของประเทศที่สร้างขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก คือ ขยะที่มีส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกจัดการอย่างเหมาะสมหรือถูกวิธี โดยประเทศต่างๆ เหล่านี้มีข้อมูลการจัดการขยะอย่างผิดวิธีเป็นปริมาณสูงมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในทางกลับกันถ้าหากไปพิจารณาข้อมูลของสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนประชากรตามแนวชายฝั่งเป็นจำนวนมากถึง 112.9 ล้านคน ซึ่งเพียงแค่ประชากรชายฝั่งก็มากกว่าประชากรคนไทยทั้งประเทศแล้วแต่กลับถูกจัดให้อยู่เป็นอันดับที่ 20 ซึ่งประชากรในประเทศอเมริกามีการสร้างขยะปริมาณมากถึง 2.58 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน แต่กระนั้น สหรัฐอเมริกากลับมีปริมาณการปล่อยขยะลงทะเลแค่ 0.4 – 0.11 ล้านตันต่อปีเท่านั้น และยังมีระบบการจัดการขยะที่ดีจนมีเพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ของขยะเท่านั้นที่ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง
ดังนั้นวิธีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพคงจะเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหา โดยที่สหรัฐอเมริกานั้นมีระบบจัดการขยะแบบองค์รวมด้วย 4 วิธีหลัก ได้แก่ 1. การเสริมสร้างประสิทธิภาพเรื่องระบบการจัดการขยะ ซึ่งในหลักการนี้จะครอบคลุมไปถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะ การประสานงานกับรัฐบาลท้องถิ่นให้มองเห็นปัญหาร่วมกัน และการให้ความรู้ที่เรื่องการจัดการขยะที่ถูกต้องแก่ประชาชน 2. การสร้างแรงจูงทางเศรษฐกิจแก่ธุรกิจรีไซเคิล โดยประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้ธุรกิจรีไซเคิลสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และแข่งขันได้ในตลาด 3. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และ 4. การประชาสัมพันธ์การงดทิ้งขยะในสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือการจัดเก็บขยะในสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งจากหลักการทั้ง 4 ข้อนี้อาจจะสรุปเพื่อนำไปปรับใช้ในประเทศอื่นๆ อย่างง่ายๆ ได้ว่า รัฐบาลต้องสนใจการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มีการสร้างธุรกิจรีไซเคิลครบวงจร ต้องพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้หลายประการได้มีเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว การประสานระบบการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจรเพื่อทุกฝ่ายสามารถประสานการทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพคงจะเป็นคำตอบของไทยมากกว่า
ทุกวันนี้เราคงเห็นได้ชัดว่าผู้คนในสังคมเราได้ให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use) และมีการนำกลับมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับไม่กี่ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับงานวิจัยเชิงสอบถามที่รายงานว่าคนไทยมีความตระหนักถึงประเด็นผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งแสดงว่าคนไทยนั้นพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ และพร้อมปฏิบัติตามแนวทางเพื่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งถ้ามีระบบการจัดการที่ดีช่วยสนับสนุนให้ทุกความพยายามเชื่อมต่อกันได้อย่างราบรื่น ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค อุตสาหกรรมรีไซเคิล อุตสาหกรรมในห่วงโซ่พลาสติกรีไซเคิล การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่ส่งผลต่อชีวิตของสัตว์น้อยใหญ่ในทะเลย่อมจะเกิดขึ้นได้แน่
John Wesley Hyatt เป็นผู้ที่คิดค้นโพลีเมอร์สังเคราะห์ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2412 โดยแรกเริ่มนั้นโพลีเมอร์มีจุดประสงค์เพื่อทดแทนการใช้งาช้างธรรมชาติในลูกบิลเลียด ช่วยให้ลดการฆ่าสัตว์และนำอวัยวะมาใช้งาน และทดแทนการใช้วัสดุหายากจากธรรมชาติชนิดอื่นๆ โพลีเมอร์จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อลดผลกระทบเชิงลบในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น การนำทรัพยากรที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเจตนาในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกลับมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุดก็นับเป็นการเคารพและดำเนินรอยตามเจตนารมณ์แรกเริ่มของการคิดค้นวัสดุชนิดนี้ขึ้นมาในโลก ดังนั้นปัญหาและทางแก้ไขอย่างยั่งยืนคืออะไร นั่นคือสิ่งที่สำคัญมากที่เราทุกคนจะตระหนักและช่วยกันคิดหนทางออก และที่สำคัญที่สุดคงเป็นความจริงจังในการจัดทำนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม
เรื่องและภาพโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
เกี่ยวกับผู้เขียน
ช่างภาพสารคดีที่เน้นประเด็นอนุรักษ์ทางทะเล Associate Fellow ของ International League of Conservation Photographers และตีพิมพ์งานเป็นประจำกับ National Geographic Thailand โดยมีจุดเริ่มต้นจากอาชีพวิทยาศาสตร์ทางทะเลก่อนผันมาถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านภาพถ่าย จนได้รับรางวัลจากการแข่งขันระดับสากลหลายสถาบันและร่วมงานกับองค์กรด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติหลายแห่ง เข้าไปชมผลงานได้ที่ @shinalodon หรือ www.shinsphoto.com