ฝึกเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยวิธีการ Active Listening กันเถอะ

ได้ยินแค่เสียง หรือฟังอย่างตั้งใจ
ฝึกเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยวิธีการ Active Listening กันเถอะ

 

เรื่องโดย รวิสุต ลิ้มบุญยประเสริฐ, Compensation Partner, Dow Thailand Group

 

ในหนึ่งวันเราได้ยินเสียงต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสียงผู้คนที่กำลังเดินไปมา เสียงรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน หรือเสียงของคนรอบข้างตัวเราพูดคุยกัน การได้ยินเสียงเหล่านี้แตกต่างจากการฟังมากน้อยขนาดไหนกันนะ? เราได้ยินเสียงเกือบตลอดเวลาที่ตื่น แต่เราฟังจริงๆ เป็นเวลาเท่าไหร่กัน? และหากเรารู้จักวิธีที่จะฟังอย่างมีประสิทธิภาพแล้วจะมีผลดีอย่างไรกับตัวเราบ้าง? วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับ 2 คำนี้กัน

การได้ยิน (Hear) หมายถึง ความสามารถในการรับรู้เสียงผ่านทางหูซึ่งเป็นหนึ่งในความสามารถของสิ่งมีชีวิตและนับเป็นหนึ่งในห้าประสาทสัมผัสที่รู้จักกันมาตั้งแต่โบราณซึ่งได้แก่ การเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น การสัมผัส

การฟัง (Listen) หมายถึง การแปลงเสียงเป็นข้อความซึ่งเป็นทักษะที่เราจำเป็นเรียนรู้และพัฒนาขึ้นเพื่อแปลสัญลักษณ์ต่างๆ ของภาษา โดยความสามารถในการฟังนั้น นักสื่อสารแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 การฟังแบบได้ยิน (Downloading) เป็นการฟังระดับที่เราได้ยินเสียงความคิดของตัวเองเป็นหลักและตอบกลับผู้พูดในทันที 

ระดับที่ 2 การฟังแบบโต้เถียง (Debate) เป็นการฟังที่ตั้งใจฟังมากขึ้นแต่เพื่อจะจับผิดหรือโต้แย้งสิ่งที่อีกฝั่งหนึ่งพูด 

ระดับที่ 3 การฟังแบบเข้าอกเข้าใจ (Sensing) การฟังระดับนี้คือการฟังที่ผู้ฟังให้ความสำคัญกับอวจนภาษาอื่นๆ ทั้งหมดของผู้พูดเพื่อเข้าใจถึงความรู้สึก แรงขับดัน และอารมณ์ของผู้พูด

ระดับที่ 4 การฟังแบบเติบโต (Generative) การฟังในระดับลึกที่เราต้องการเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในภายในผู้พูดและรับรู้ถึงศักยภาพของผู้พูดในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า 

People talking

 

ทักษะการฟังที่ดี ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ การแก้ไขปัญหาอย่างตรงประเด็น หรือการให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้องนั้นควรจะอยู่ในระดับที่ 3 หรือระดับที่ 4 โดยการฟังระดับนี้จะทำให้ผู้พูดรู้สึกได้ว่าถูกรับฟัง ได้รับการเอาใจใส่ และรู้สึกมีคุณค่า สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเกิดความไว้วางใจในการสนทนาและทำให้อีกฝ่ายพร้อมที่จะเปิดเผยความคิดของตนเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่สนทนาอีกด้วย

ถึงตอนนี้ เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านเข้าใจเรื่องของการฟังและข้อดีของการฟังกันไปแล้ว คงมีคำถามว่า แล้วถ้าเราจะฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดีเราต้องทำอย่างไรบ้าง ทำได้ไม่ยากเลยครับ วันนี้เรามาทำรู้จักกับ 3 เรื่องง่ายๆ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการฟังของเราให้ก้าวกระโดดกันเถอะ

 

ข้อที่ 1 พยายามล็อคตนเอง หรือบังคับตนเองให้มีสมาธิอยู่กับผู้พูดอย่างเต็มที่ สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำ และเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเพราะเราเมื่อเราได้ยินเรื่องราวต่างๆ เรามักจะเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นกับประสบการณ์ส่วนตัวของเรา 

ข้อที่ 2 ทำความเข้าใจ เป็นการแสดงออกเพื่อให้ผู้พูดมั่นใจว่าเรารับฟังอย่างตั้งใจ และเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสาร โดยสามารถทำได้ง่ายด้วยการ ทวนคำพูด ของผู้พูดและการ สรุปความ 

ข้อที่ 3 ค้นหา หลายๆ ครั้งเราอาจจะยังไม่เข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการจะสื่อสารทั้งหมด ดังนั้นการใช้ทักษะที่เรียกว่า การถาม จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อสารได้มากยิ่งขึ้น และยังสามารถเจาะลึกในประเด็นที่สำคัญได้อีกด้วย โดยใช้ คำถามปลายเปิด ให้อีกฝ่ายสามารถอธิบายเพิ่มเติมจากสิ่งที่พูดมาได้ 

จากทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา ไม่ได้มีข้อไหนที่ต้องทำเป็นข้อแรก และไม่มีขั้นตอนตายตัว เราควรจะใช้ทักษะเหล่านี้ไปพร้อมๆ กันตลอดการฟัง ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อทุกท่านใช้ทักษะเหล่านี้เป็นประจำแล้ว ท่านจะเป็นผู้ฟังที่ดีที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้พูด มีความสัมพันธ์ที่ดีและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ

 

อ้างอิง https://www.leadershipforfuture.com/deep-listening