เรื่องโดย ดร.ปรีดี หงษ์สต้น
นักวิจัยประจำศูนย์อาณานิคมและหลังอาณานิคมศึกษา มหาวิทยาลัยลินเนียส สวีเดน
ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า สวีเดนเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าขยะไปรีไซเคิลปีหนึ่งๆ เป็นล้านตัน คนจึงสงสัยกันว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เขาต่างก็อยากจะกำจัดขยะจำนวนมหาศาลออกไปให้ไกลๆ ประเทศตัวเอง แต่สวีเดนนี่กลับแปลก ขยะของตัวเองมีไม่เพียงพอหรืออย่างไร ถึงต้องไปเที่ยวซื้อเอาขยะของคนอื่น
คำตอบคือเพราะเขามีระบบจัดการกับขยะอย่างมีประสิทธิภาพครับ มีภาคเอกชนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมจัดการขยะนี้อย่างพอสมควรจนจำนวนขยะต่อการคุ้มทุนนั้นไม่สมดุลกัน ทำให้ธุรกิจการจัดการขยะของสวีเดนจำเป็นต้องนำเข้าขยะเพื่อจะได้ขยับเข้าสู่จุดคุ้มทุนให้ได้ การจัดการขยะนี้เชื่อมโยงโดยตรงกับอุตสาหกรรมพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างยิ่ง
ทั้งหมดนี้เขาทำกันเป็นองคาพยพครับ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นโยบายภาครัฐเขาก็เคลื่อนรับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมทั้งเรื่องการประชาสัมพันธ์การจัดการขยะ และการจัดสรรอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้การแยกขยะของประชาชนเป็นไปพอสมควรเท่าที่จะทำได้ เมื่อทิศทางของรัฐบาลในเมืองหลวงเป็นไปเช่นนี้ ก็เชื่อมต่อเข้ากับการจัดการของการปกครองระดับท้องถิ่น ผู้รับผิดชอบการปกครองของระดับมณฑล และระดับเมืองต่อไป
ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะเงินภาษีนั่นละครับ เงินมหาศาลในการจะนำมาสร้างระบบอำนวยความสะดวกในการจัดการขยะก็มาจากภาษีของประชาชนนั่นเอง
เมื่อนโยบายการจัดการขยะเป็นไปในลักษณะมหภาคเช่นนี้ ก็สามารถทำให้การกำหนดนโยบายร่วมกับภาคส่วนอื่นของระบบราชการเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาตั้งแต่ชั้นปฐมวัย เด็กๆ ในโรงเรียนสวีเดนจะได้เรียนเรื่องการฝึกแยกขยะ เหตุผลที่ต้องแยกขยะ และความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีความคาดหวังทางสังคมใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้คนทำเป็นนิสัยมากขึ้น
ผมขอเล่าตัวอย่างเล็กๆ ของการจัดการแยกขยะในเขตที่อยู่อาศัยของผมเองในสวีเดน เพื่อเป็นตัวอย่างก็แล้วกันนะครับ วันนี้ผมกับลูกๆ กำลังจะออกไปเที่ยวกัน และทุกครั้งที่ออกจากอะพาร์ตเมนต์ ก็จะพากันนำขยะไปทิ้ง
ในครัวเรือนของทุกบ้าน ต่างก็มีถุงขยะแยกออกไปเป็นแต่ละประเภทๆ โดยหลักๆ จะเป็น
- เศษอาหาร
- กล่องกระดาษ บรรจุภัณฑ์กระดาษ
- บรรจุภัณฑ์พลาสติก
- หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และกระดาษใช้แล้ว
- ขวดแก้ว หรือบรรจุภัณฑ์แก้วที่เคลือบสี
- ขวดแก้ว หรือบรรจุภัณฑ์แก้วที่ไม่เคลือบสี
- เหล็กและกระป๋องที่ทำจากเหล็ก
- ถ่าน หลอดไฟ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- ขยะที่เหลือไม่เข้าพวก
เห็นไหมครับ เริ่มต้นตั้งแต่ในบ้านก็ดูจะวุ่นวายแล้ว แต่พอแยกไปๆ ก็จะเริ่มเป็นนิสัยครับ รู้ว่าอะไรควรจะทิ้งตรงไหน เพราะสินค้าต่างๆ ที่เราซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่จะมีข้อมูลบอกว่าจะต้องแยกเป็นขยะประเภทใดเสมอ แถมเขายังมีแหล่งข้อมูลอย่างละเอียดให้เข้าไปเช็คด้วยว่าขยะชิ้นนั้นน่าจะทิ้งใส่กล่องอะไร
ในเขตที่ผมอยู่อาศัยจะมี “สถานีแยกขยะ” (miljöstation) สำหรับทุกครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อนำขยะมาทิ้ง โดยออกแบบให้สถานีนี้อยู่ห่างจากบริเวณที่อยู่อาศัยพอสมควร แต่อยู่ใกล้กับทางเข้าบริเวณที่อยู่ เพื่อสะดวกต่อการจัดเก็บของรถเจ้าหน้าที่
ในห้องสถานีแยกขยะ จะมีถังขยะแยกสำหรับขยะแต่ละประเภทและมีป้ายบอก รวมทั้งมีอุปกรณ์ทำความสะอาดที่สมาชิกเขตชุมชนจะช่วยกันรักษาความสะอาด
บริเวณด้านนอกของสถานีแยกขยะ จะเป็นที่ทิ้งขยะประเภทเศษอาหารและขยะไม่เข้าพวกทั้งหมดที่ต้องถูกนำไปเผา ซึ่งจะเป็นกล่องฝังใต้ดิน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งรวมของสัตว์และเชื้อโรค ขยะด้านนอกนี้จะมีการจัดเก็บประจำ เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมของเสีย รวมทั้งจะมีการทำความสะอาดทุกสัปดาห์
นี่คือตัวอย่างของการนำเงินภาษีมาจัดการเรื่องการแยกขยะครับ แน่นอนว่า ก็ยังมีปัญหามากมาย ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะประสบความสำเร็จเสมอไป เช่น การแยกขยะไม่ถูกต้อง การรวมขยะประเภทเดียวกันไปทิ้งในที่เดียว ฯลฯ แต่ทิศทางของเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะคงอยู่ตลอดช่วงศตวรรษที่จะมาถึงนี้ และสวีเดนก็คงจะเป็นหนึ่งในประเทศแถวหน้าที่มีบทบาทเรื่องนี้
ผมนำเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ จากประสบการณ์ที่ได้อาศัยอยู่ในโครงสร้างสังคมที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม มาเรียนกำนัลแด่ท่านผู้อ่าน หวังว่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราในประเทศไทยจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศสวีเดนไม่มากก็น้อยครับ